ข่าวสารจากสมาชิก สช.

สช.ระดมภาคี “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” 66 จังหวัด เสริมพลังสร้างความเข้มแข็งผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะ ขับเคลื่อนประเด็น“ความมั่นคงทางอาหาร-เกษตรปลอดภัย”

 

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะว่าด้วย “ร่วมสร้างเส้นทางอาหาร ให้มั่นคงและปลอดภัย” โดยเป็นการระดมตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด รวม 66 จังหวัด เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ และให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการผลักดันนโยบายสาธารณะ ในประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเชื่อมโยงกับทิศทางของนโยบายในระดับชาติ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ รวมทั้งกลไกการมีส่วนร่วมต่างๆ เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นคำตอบที่สำคัญให้กับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการฟื้นฟูประเทศ อันเป็นภารกิจหลักที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันหลังจากนี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่สำคัญนั้นคือด้านความมั่นคงทางอาหาร เกษตรปลอดภัย สารเคมีรวมถึงเกษตรสุขภาพ

สำหรับประเด็นว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัย เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีมานับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี 2551 เรื่อง “เกษตรและอาหารในยุควิกฤต” ถัดมาในปี 2555 เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” และล่าสุดในปี 2563 เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ที่สะท้อนถึงปัญหาช่วงโควิด-19 ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และสมัชชาสุขภาพจังหวัดอีกหลายพื้นที่

นพ.ประทีป กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัญหาด้านอาหาร ไม่ว่าจะในแง่ความปลอดภัย การกระจาย การเข้าถึงต่างๆ ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มติสมัชชาสุขภาพฯ ปี 2563 จึงตั้งเป้าที่จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสที่เรามาทบทวนในเรื่องของระบบอาหาร ว่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพได้อย่างไร แต่อีกจุดสำคัญมากไปกว่านั้น คือเราจะสามารถใช้เรื่องของอาหารปลอดภัย มาเป็นการเพิ่มมูลค่า ฟื้นฟูเศรษฐกิจของครัวเรือนรวมถึงประเทศได้อย่างไร
“อย่างเสียงสะท้อนจากบางพื้นที่ บอกว่าการผลิตอาหารปลอดภัยอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอให้มีตลาดรองรับที่ชัดเจน ฉะนั้นจึงอาจมีข้อเสนอเชิงนโยบายไปถึงรัฐบาลรวมถึงท้องถิ่น ให้มีการขยายตลาดอย่างจริงจัง เช่น ให้เป็นอาหารของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นอาหารกลางวันของนักเรียน ส่งเสริมตลาดในชุมชน ไปจนถึงการส่งตลาดต่างประเทศ ถ้าเราพุ่งเป้าให้เกิดนโยบายที่ชัดเจน มีหน่วยงานหลักขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ก็จะทำให้เราเดินไปสู่เป้าหมายได้” นพ.ประทีป กล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กลไกสมัชชาสุขภาพ นับเป็นกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจ แต่เป็นการต่อรองกับภาคนโยบายด้วยข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จไปในบางส่วน เช่นเดียวกับเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ที่มาจนถึงปัจจุบันสามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วมากมาย แต่ก็ยังมีประเด็นอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำต่อดร.เดชรัต กล่าวว่า แม้เราจะเชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอาหาร มีการผลิตอาหารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 แต่ก็ยังสามารถเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารขึ้นได้ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตซ้ำหลายระลอกที่เราเผชิญ ตั้งแต่โควิด-19 มาจนถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ และราคาอาหารที่ดีดตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ทำให้คนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยพบว่าคนต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึง 4.8 เท่า เพื่อที่จะสามารถซื้อหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้  “การเข้าไม่ถึงอาหารในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีคนอดอยาก ไม่มีอะไรกิน เราคงไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่เป็นในแง่ความมั่นคงทางอาหารตามแนวคิดของ FAO ที่แบ่งการเข้าถึงอาหารเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับแรกคือให้มีพลังงานเพียงพอ ถัดขึ้นมาคือให้มีสารอาหารเพียงพอ และปัจจุบันที่จะต้องขึ้นไปสู่ขั้นของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คือได้รับอาหารที่มีความหลากหลายทางโภชนาการ แต่การจะเข้าถึงอาหารได้ในแต่ละขั้น ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ก็จะจำกัดทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคาอาหารจะขยับตัวแพงขึ้น แต่ตัวเกษตรกรเองกลับไม่ได้เงินเพิ่มตามสัดส่วนที่มากขึ้นนั้นไปด้วย ฉะนั้นในอีกแง่หนึ่งเกษตรกรไทยเองก็จะต้องมีทางเลือกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เปลี่ยนจากตลาดโภคภัณฑ์ หรือตลาดดั้งเดิมที่ได้ราคาต่อหน่วยต่ำ มาเป็นการเจาะตลาดท้องถิ่น หรือตลาดเฉพาะคุณภาพสูง ที่ได้ราคาต่อหน่วยสูงแทน”

ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดี คือจะต้องมีความสอดคล้องกับปัญหา สาเหตุ กลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบาย โดยการอธิบายให้ชัดเจน เข้าใจง่าย กำหนดบทบาทผู้ที่ต้องการให้ดำเนินการ โดยเฉพาะการอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและปฏิบัติได้ รวมมีความกระชับและไม่มีข้อเสนอแนะมากเกินไป

อนึ่ง ภายในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ตัวแทนจากภาคีสมัชชาสุขภาพทั้ง 66 จังหวัด ยังได้ร่วมในกระบวนการกลุ่มเพื่อเตรียมตัวในการจัดทำข้อเสนอ เรียนรู้วิธีการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Brief) ปฏิญญา ถ้อยแถลงต่างๆ เพื่อเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะ ในการที่จะร่วมสร้างเส้นทางอาหารให้มั่นคงและปลอดภัย

ที่มา : https://www.nationalhealth.or.th/index.php/th/node/3805
ที่มาภาพ : เว็บไซต็ สช