ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กลาโหม โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ส่งมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ (D–EMPIR CARE) จำนวน 3 ระบบ ให้กับ สธ. เพื่อสนับสนุนภารกิจทีมแพทย์ในโรงพยาบาลบุษราคัม

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 โดยเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นการวิจัยพัฒนา จนถึงขั้นการผลิตและจำหน่าย เพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 (S – Curve ที่ 11) ของรัฐบาล เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ด้วยการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

สทป. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD Robot) ในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อบูรณาการขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดให้สามารถตอบสนองภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของหน่วยผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ปัจจุบันจะเห็นว่า สทป. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD Robot) ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดเล็ก รุ่น D-EMPIR และหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา รุ่น หนูนา (NooNar) ซึ่งได้ส่งมอบให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นำไปทดสอบทดลองใช้ ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดดังกล่าวได้ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา เจ้าหน้าที่สามารถพกพาไปปฏิบัติงานได้สะดวก เหมาะกับการใช้งานในระดับยุทธวิธี การพิสูจน์ทราบ ลาดตระเวนตรวจการณ์ และสำรวจพื้นที่เป้าหมาย ง่ายต่อการใช้งาน สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่อง 1-2 ชั่วโมง คงทนต่อสภาพแวดล้อม รองรับด้วยมาตรฐานสากล สามารถปีนและไต่ทางลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 35 องศา ควบคุมและสามารถสั่งการแบบไร้สายระยะไกล 200 เมตร รองรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยในการสนับสนุนภารกิจที่หลากหลาย เช่น ปืนยิงทำลายวงจรวัตถุระเบิด ระบบเอกซเรย์วัตถุระเบิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นวงกว้าง จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ สทป. จึงเล็งเห็นถึงขีดความสามารถหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD Robot) ของ สทป. ที่สามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์ (payload) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามความเหมาะสมในภารกิจต่างๆ สทป. จึงมีแนวคิดที่จะดัดแปลงและปรับปรุงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD Robot) รุ่น D-EMPIR มาเป็นรูปแบบของหุ่นยนต์สำหรับใช้ปฏิบัติงานในภารกิจโรงพยาบาลสนาม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหุ่นยนต์นี้มีขีดความสามารถในการควบคุมแบบไร้สายระยะไกล บรรทุกยา อาหาร หรือสิ่งของเพื่อส่งให้ผู้ป่วย พร้อมติดกล้อง และไมโครโฟน รวมถึงจอมอนิเตอร์เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางแพทย์ และยังช่วยในการอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับหุ่นยนต์ที่ สทป. ได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น สทป. ได้ตั้งชื่อหุ่นยนต์นี้ว่า “D-EMPIR CARE” เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งานและความรู้สึกเป็นมิตรต่อการใช้งาน “user friendly” โดยหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE ได้ถูกพิสูจน์ทดสอบและทดลองการใช้งานแล้วระยะหนึ่ง (ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา) ที่โรงพยาบาลสนามของกองทัพบก ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะเห็นว่าการใช้งานหุ่นยนต์ D-EMPIR CARE นั้น สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวก ความปลอดภัย และลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสัมผัสและรักษาผู้ป่วยได้ตามวัตถุประสงค์ โดย “หุ่นยนต์ D-EMPIR CARE” มีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้

• หุ่นยนต์ควบคุมแบบไร้สายระยะไกล รองรับการเชื่อมต่อระบบ WIFI หรือเครือข่ายมือถือ (Cellular Network)
• รองรับการสนทนาระหว่างแพทย์และผู้ป่วยด้วยระบบ VDO Call
• ใช้งานต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง
• สามารถข้ามเครื่องกีดขวางบนพื้นราบได้
• ขับเคลื่อนด้วยสายพานรองรับการทำงานทุกสภาพภูมิประเทศ

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 กระทรวงกลาโหม โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จึงจัดพิธีส่งมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ (D-EMPIR CARE) เพื่อสนับสนุนภารกิจทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบุษราคัม ระหว่าง กระทรวงกลาโหม โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พร้อมด้วย พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมเป็นประธานในการส่งมอบหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE ให้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนรับมอบ และกล่าวขอบคุณถึงการสนับสนุนหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE สำหรับภารกิจของทีมแพทย์โรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เป็นวงกว้าง จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ สทป. จึงเล็งเห็นโอกาสในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ สทป. โดยเฉพาะงานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีสองทาง (Dual use) มาช่วยสนับสนุนกาปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ จึงเป็นที่มาของหุ่นยนต์ รุ่น “D-EMPIR CARE” ซึ่งได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ รุ่น “D-EMPIR” ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยทางทหารมาสร้างประโยชน์เป็นเทคโนโลยีสองทาง (Dual use) สามารถประยุกต์ใช้กับภาคพลเรือน โดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงกลาโหม โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ได้พัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์สำหรับภารกิจทางการทหารไปสู่หุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการสาธารณสุขนั้น ถือได้ว่าเป็นการนำงานวิจัยทางการทหารมาสร้างประโยชน์เป็นเทคโนโลยีสองทาง (Dual use) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคพลเรือน อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ รุ่น “D-EMPIR CARE” นี้ ได้ถูกพิสูจน์โดยการทดสอบและทดลองใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลสนามของกองทัพบก พบว่า หุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE นั้นสามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย และลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสัมผัสและรักษาผู้ป่วยได้ตามวัตถุประสงค์

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหม เห็นว่า หุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE นี้จะสามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทำงานอย่างหนักเพื่อให้การรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึง ดังนั้น กระทรวงกลาโหม โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จึงขอมอบหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE จำนวน 3 ระบบ แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้งานในภารกิจโรงพยาบาลสนาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE นี้จะเป็นประโยชน์และช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรได้อย่างสูงสุด

ความมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาของ สทป. ในการดัดแปลงจากหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น D-EMPIR มาเป็นหุ่นยนต์ รุ่น D-EMPIR CARE ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบ วิจัยและพัฒนา ผลิตและทดสอบที่เป็นสากลในครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพความพร้อมในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาสังคมโดยรวม เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

วันที่เผยแพร่
ชื่อบทความ
22/12/2021

ศูนย์ SMC สวทช. “ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทย สู่อุตสาหกรรม 4.0”

  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable  Manufacturing Cent...

22/12/2021
22/12/2021

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรือผลักดันโคลนเพื่อความมั่นคงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กับ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อการสนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมอุตสาหกรรม และการสร้างความความมั่นคงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมวิจัยและพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรือผลักดันโคลนเพื่อความมั่นคงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรร...

22/12/2021
22/12/2021

สทป. ส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ให้กองทัพเรือ เพื่อตอบสนองภารกิจของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศวิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลใน ปี 2563 เป็นไปตามความต้องการใช้งานของหน่วยผู้ใช้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เพื่อบูรณาการองค์ค...

22/12/2021