ด้านการศึกษาและวิจัย

“สังคมสูงวัย” น่ากลัวจริงหรือ?

“สังคมสูงวัย” น่ากลัวจริงหรือ?

“สังคมสูงวัย” เป็นคำที่พูดถึงอย่างมากในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา หลายท่านอาจทราบว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ซึ่งไม่เพียงหมายถึงสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยแรงงานหลักอย่างหนุ่มสาววัยแรงงานกำลังมีสัดส่วนที่ลดลง ยิ่งทำให้เกิดข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งรายได้ การมีเงินออม การประกันรายได้ที่จำเป็นในยามชรา รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จะยิ่งเป็นภาระให้กับกำลังวัยแรงงานมากขึ้นหรือไม่

งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นประชากร ภายใต้บริบทการสูงวัยทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย” จะชี้ให้เห็นถึงภาพภาวะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของประชากรในรุ่นต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากร เพื่อหาแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งช่วงชีวิตของประชากรออกเป็นสามช่วง ตามโมเดลวัฏจักรชีวิตทางเศรษฐกิจ (Economic Life Cycle Model) ซึ่งแสดงระดับการบริโภคของบุคคลเทียบกับระดับรายได้จากการทำงานที่บุคคลนั้นสามารถหาได้ในแต่ละช่วงอายุ โดยประกอบไปด้วย 1. ช่วงวัยเด็ก (0-24 ปี) ที่ระดับรายได้ต่ำกว่าระดับการบริโภค เป็นช่วงที่ประชากรยังคงพึ่งพิงพ่อแม่และครอบครัว ยังไม่สามารถทำงานหารายได้ด้วยตัวเอง  2. ช่วงวัยทำงาน (25-57 ปี) เป็นช่วงที่ระดับรายได้เพิ่มสูงขึ้นและมีระดับสูงกว่าระดับการบริโภค และเป็นช่วงที่ประชากรเข้าสู่วัยแรงงานสามารถทำงานได้เต็มที่ และ 3. วัยสูงอายุ (58 ปีขึ้นไป) ที่ระดับรายได้ลดลงและกลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับการบริโภคอีกครั้ง เป็นช่วงที่ประชากรสูงวัยทำงานหารายได้ได้น้อยลงหรือหยุดทำงาน โดยจะเห็นได้ว่าวัยทำงาน เป็นช่วงเดียวที่ระดับรายได้นั้นมากกว่าระดับการบริโภค ซึ่งในวัยเด็กและวัยสูงอายุ เป็นช่วงชีวิตที่เกิดการขาดดุลทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความสามารถในการหารายได้จากการทำงานได้น้อยกว่าระดับการบริโภคที่ต้องการ ทำให้วัยที่อยู่ตรงกลางต้องเป็นวัยหลักที่จะช่วยโอนปัจจัยและทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาช่วยเหลือ

การโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่น

จากการศึกษาบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ หรือ National Transfer Accounts (NTA) เพื่อวิเคราะห์แบบแผนรายได้และการบริโภคของประชากรในแต่ละช่วงอายุ พบว่าในปี พ.ศ. 2560 ประชากรไทยมีรายได้จากการทำงาน รวมทุกอายุต่อหัว เท่ากับ 105,049 บาท และมีระดับการบริโภคต่อหัว เท่ากับ 132,192 บาท คิดเป็นมูลค่าการขาดดุลรายได้ เท่ากับ 27,143 หรือทั้งหมดจากประชากร 66.1 ล้านคน เป็นมูลค่าการขาดดุลรวม 1.79 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณาแหล่งรายได้ในแต่ละช่วงวัยพบว่าในวัยเด็กประมาณสามในห้าของแหล่งรายได้นั้นมาจากสมาชิกในครอบครัว และอีกประมาณสองในสามนั้นมาจากการโอนรับสุทธิจากภาครัฐ ในวัยทำงาน รายได้หลักนั้นมาจากการทำงาน และการจัดสรรสินทรัพย์ภาคเอกชน ซึ่งมีระดับสูงกว่าการบริโภคถึงประมาณกว่าร้อยละ 20 ของระดับการบริโภค ในวัยสูงอายุ ร้อยละ 32 ของแหล่งรายได้นั้นยังคงมาจากการทำงาน และร้อยละ 40 มาจากการจัดสรรสินทรัพย์เอกชน ประมาณร้อยละ 16 มาจากการโอนรับสุทธิภาครัฐ และร้อยละ 13 มาจากการโอนรับสุทธิภาคเอกชนระหว่างครัวเรือน

บริบทการสูงวัย

ประชากรสูงวัยไม่ใช่เพียง “จำนวน” ที่เพิ่มขึ้น แต่ “บริบทการสูงวัย” ก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อมองผ่านตัวชี้วัดด้านระดับการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านสภาพสมรสกับการมีบุตร ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในประเทศไทย ที่มีสัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลง ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น กลับพบว่าประชากรไทยในภาพรวมมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยมีประชากรที่จบการศึกษาในระดับต่ำกว่าประถมศึกษาลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนประชากรที่จบการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมปลายเพิ่มสูงขึ้น สถานภาพการแต่งงานและการมีคู่มีสัดส่วนที่ลดลง ในขณะที่สถานภาพหย่าหรือแยก และเป็นม่ายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทำให้การสร้างรายได้ของคนในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพวกเขาก้าวเข้ามาเป็นประชากรในวัยสูงอายุก็จะมีทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น มีการออม มีรายได้ หรือมีแนวโน้มชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย ทำให้เห็นว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตก็ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิด

การโอนเศรษฐกิจข้ามรุ่นในอนาคต

จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลประชากรในอนาคต ร่วมกับฐานข้อมูลการโอนทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาโครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว พบว่า การขาดดุลรายได้ระหว่างช่วงชีวิต เฉลี่ยทุกอายุต่อหัวประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระหว่าง พ.ศ. 2560 -2580 จาก 27,143 บาท เป็น 31,454 บาท และ 36,473 บาท ตามลำดับ ซึ่งการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนประชากรในวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง ส่วนการจัดสรรระหว่างช่วงอายุพบว่า ระดับการรับโอนสุทธิจากภาครัฐต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,172 บาท และ 2,957 บาท ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มภาระทางการคลังในการจัดสวัสดิการและสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

แต่เมื่อทำการประมาณการโดยพิจารณาทั้งโครงสร้างอายุและคุณลักษณะทางประชากรที่เปลี่ยนแปลง กลับพบว่า มูลค่าการขาดดุลรายได้ระหว่างช่วงชีวิตต่อประชากรลดลง อยู่ที่ประมาณ 25,080 บาทต่อคน ใน พ.ศ. 2570 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 27,989 ใน พ.ศ. 2580 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าการประมาณการโดยพิจารณาเฉพาะโครงสร้างอายุเพียงอย่างเดียวค่อนข้างมาก

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น หากประชากรสูงวัยมีคุณภาพหรือทุนมนุษย์ที่ดีขึ้น (ในที่นี้พิจารณาจากระดับการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น และอายุคาดเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น) แม้แนวโน้มประชากรจะมีสถานะโสดมากขึ้นและมีบุตรลดลง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็อาจไม่รุนแรงเท่าการคาดการณ์เฉพาะด้านโครงสร้างอายุเพียงด้านเดียว ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์และคุณภาพของประชากรน่าจะเป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ มากกว่าการมุ่งเน้นที่จะเพิ่มจำนวนประชากรที่เกิดใหม่เพียงอย่างเดียว

การเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

จากผลการศึกษาข้างต้นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 เรื่อง ได้แก่

  • นโยบายการส่งเสริมการเกิดและสนับสนุนการเลี้ยงดูประชากรวัยเด็ก

    เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กอายุ 0-14 ปี หนึ่งคนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.57 ล้านบาท ซึ่งสามในห้าเป็นส่วนที่รับผิดชอบโดยพ่อแม่ โดยพบความเหลื่อมล้ำของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสุขภาพ ระหว่างครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่มีฐานะดี ส่วนอีกสองในห้าเป็นส่วนที่อุดหนุนจากภาครัฐ ดังนั้น รัฐอาจมีมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจที่พ่อแม่ไทยต้องแบกรับในการดูแลบุตร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีบุตร

  • นโยบายสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปี

    โดยเฉลี่ยคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวได้อีกประมาณ 20 ปี ซึ่งพบว่าจำนวนทรัพย์สินและเงินออมที่คนไทยควรมีก่อนอายุ 60 ปี จะอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีครอบครัวหรือลูกหลานดูแลในวัยชรา การเตรียมตัวในส่วนนี้ต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณหนึ่งในสาม ดังนั้น การวางแผนการออมหรือการลงทุนในสินทรัพย์ ในช่วงวัยทำงานเพื่อให้เงินออมและสินทรัพย์นั้นสามารถก่อให้เกิดรายได้ในช่วงวัยสูงอายุ เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมและสร้างความตระหนัก

  • นโยบายการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจน 

    จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุไทยประมาณร้อยละ 6 มีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน การจะยกผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้ขึ้นมาอยู่สูงกว่าระดับเส้นความยากจน ภาครัฐควรอุดหนุนเงินเพิ่มเติมประมาณ 433 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งอาจนำไปปรับเปลี่ยนกับนโยบายเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ

  • นโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพประชากร 

    จากการวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การโอนเศรษฐกิจข้ามรุ่นในอนาคตจะดีขึ้น เมื่อนำคุณลักษณะของผู้สูงอายุในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไปจากการมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น มีการแต่งงานช้าลง และจำนวนบุตรที่น้อยลง มาร่วมพิจารณาด้วย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณลักษณะของผู้สูงอายุในอนาคตให้มีคุณภาพและทุนมนุษย์สูงขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการทำงานที่ยาวนานขึ้น

วันที่เผยแพร่
ชื่อบทความ
26/11/2021

ผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี)ระยะที่ 2

  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ในระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์...

26/11/2021
26/11/2021

ถอดบทเรียนนโยบายประชากรประเทศสิงคโปร์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ประเทศสิงคโปร์มีภูมิประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้วยเป้าหมายของสิงคโปร์ที่จะเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก (Hub of the Global Economy)” ทำให้ประเทศสิงคโปร์จำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อพั...

26/11/2021
26/11/2021

สังคมออนไลน์สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่มือใหม่

ในชีวิตของคนเรามักจะมีจุดเปลี่ยนผันที่ทำให้เราต้องเกิดการปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียน การเริ่มทำงาน และการมีครอบครัว ซึ่งอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือการที่เราเริ่มมีลูก และยิ่งในทุกว...

26/11/2021