การประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการครั้งที่ 5

“15 ปีที่แล้ว สสส.เปรียบเสมือนต้นไม้พันธุ์ใหม่ในประเทศไทย” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย้อนภาพการทำงานที่ผ่านมาของ สสส.จากวันแรกของการขับเคลื่อน

โดย สสส.เป็นหนึ่งใน 16 องค์กรสมาชิกของ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) หนึ่งในฟันเฟืองการทำงาน ผ่านพันธกิจที่แตกต่างกันใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา  ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านกองทุนสนับสนุน ซึ่งแต่ละองค์กรได้ทำหน้าที่เติมช่องว่างให้กับสังคมไทย และสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ

สำหรับ สสส.ถือเป็นตัวขององค์กรรัฐที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยได้นำต้นแบบการทำงานด้านสุขภาพจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้เป็นแม่แบบ และเป็นที่มาของ สสส.ในวันนี้

“ปัจจุบันร้อยละ 90 งบประมาณรัฐ คือใช้รักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีหน่วยงาน ใดมาส่งเสริมงานด้านนี้อย่างจริงจัง  เราจึงเริ่มจากการใช้นวัตกรรมด้าน การเงินการคลังเพื่อสังคม ในการนำเงินร้อยละ 2 จากการจัดเก็บภาษีเหล้าบุหรี่มาเข้ากองทุน เป็นการเติมเงินเข้ามาในเรื่องภาคการทำงานสร้างสุขภาพ”

ดร.สุปรีดา เอ่ยว่า สสส.ได้วางบทบาทการบริหารเงินงบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด ในด้านการสร้างสุขภาพยั่งยืนของพี่น้องชาวไทยทุกคน

“ในอดีตโรคภัยไข้เจ็บคนไทยยังเป็นโรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบันหลายสิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 4 การเสียชีวิตของคนไทยเกิดจากโรคพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขภาวะ ซึ่งหากพึ่งพากำลังของหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาด้านนี้ แม้ที่มา สสส.เป็นการเรียนรู้จากหลายประเทศมาก่อน แต่ไทยถือเป็นประเทศที่มีการนำมาปรับใช้และปฏิบัติได้จริงจนสร้างผลลัพธ์ความสำเร็จหลายด้านผ่านการสร้างกลไกใหม่ โดยนำวิธีการทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมและ วิถีชีวิตคนไทยด้านสุขภาพใหม่ ที่เรียกว่าง่ายๆ ว่า “สร้างนำซ่อม” ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง (health education) สร้างสิ่งแวดล้อม และการใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

16 องค์กร ทอพ. เสนอการจัดการภาครัฐแนวใหม่ thaihealth

ผู้จัดการ สสส.เฉลยเคล็ดลับสำคัญต่อว่าคือการ “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง” และสร้างนิยามการทำงาน ด้านสุขภาพใหม่

“ในด้านกระบวนการทำงาน สสส.ใช้ทฤษฎีที่ถูกที่สุดในการทำงานด้านนี้ นั่นคือเราสร้างตัวอย่างจริงที่เรียกว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือไตรพลังของการทำงาน ได้แก่ ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม โดยผลักดันควบคู่กับการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น โดย สสส.มีภาคีเครือข่ายเกิดขึ้นมากมายจากการทำงานร่วมกัน ด้วยบทบาทในการเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กลุ่มคนเหล่านี้ จนสามารถผลักดันนโยบายระดับชาติได้หลายเรื่อง และเกิดมาตการ กลไกต่างๆ มากมายด้านสุขภาพตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ”

จากหัวใจสำคัญการทำงาน คือ การให้ความรู้ จากการทำงานเชิงรุก  โดยใช้ฐานความรู้ในการเป็นตัวตั้ง  นำมาสู่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้น  ซึ่งในฐานะประธานที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) ดร.สุปรีดายังกล่าวว่า การรวมตัวกัน ของ ทอพ. มีเจตนารมณ์เดียวกัน เพื่อ ขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประสานพลังสร้างการจัดการองค์กรภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“วันนี้ถ้าจะสรุปว่านวัตกรรมที่ได้จากการทำงานของทั้ง 16 องค์กร ทอพ. มี 4 ประการคือ นวัตกรรมด้านการเงินการคลัง เพื่อสังคม นวัตกรรมด้านสุขภาพในนิยามใหม่ นวัตกรรมการเชื่อมประสานการทำงาน โดยมีองค์ความรู้ และนวัตกรรมเรื่องระบบงาน แต่วันนี้ เรายังมองเห็นว่า หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว  เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้องค์กร มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย”

ดังนั้น ทอพ. ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาองค์กร ทอพ.  ไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและ มีธรรมาภิบาล และได้รับความไว้วางใจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ผ่าน 3 มาตรการคือ 1.ประสานพลังและบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม  โดยเพิ่มบทบาทการให้ข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายแก่รัฐบาล การดำเนินงานตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2.เร่งพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล  มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประสานทรัพยากรร่วมกัน สร้างนวัตกรรมแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา และ  3.จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับองค์กรภาครัฐ เพื่อพัฒนา 16 องค์กรเฉพาะให้สามารถดำเนินการตามพันธกิจของแต่ละองค์กรได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญช่วยการ ขับเคลื่อนพันธกิจของรัฐบาลได้ให้สำเร็จ โดยทบทวนข้อกำหนด ข้อบังคับที่เป็น อุปสรรคในการทำงาน โดยมุ่งยึดแนวทางการบริหารจัดการองค์กร และกลไกการกำกับตามที่ได้ออกแบบและระบุไว้ในพระราชบัญญัติเฉพาะของแต่ละองค์กรเป็นหลัก

ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กร ทอพ. สามารถเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชน ได้อย่างแท้จริง