การออกแบบเมืองที่เป็นมิตร เพื่อรองรับสังคมสูงวัย เราสามารถพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ เน้นส่งเสริมสุขภาพกายและใจ
รศ.ดร.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจ ภายใต้แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ในการวางแผนตามหลักเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เกิดแนวทางการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือสนับสนุนดำเนินการพัฒนาพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ศึกษา ออกแบบการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ และสร้างต้นแบบ และมาตรฐานที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม
เพราะปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยและคาดประมาณว่าปี 2590 จะมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงถึงประมาณ 1.2 ล้านคนและต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในทางที่อยู่อาศัยพบว่าผู้สูงอายุในประเทศ ไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 92.44 ต้องการที่จะอยู่อาศัยในที่อยู่เดิมและต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมตามแนวคิดการสูงวัยในถิ่นเดิม ปัจจัยสำคัญคือที่อยู่อาศัยต้องถูกออกแบบตามหลักการออกแบบเพื่อทุกคน
“ต้นแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย-ใจ ที่อยู่อาศัยควรออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับความสุข 3 มุม เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจ ได้แก่ พื้นที่การใช้ชีวิตเท่ากับความสุขกาย เช่น พื้นที่สำหรับนอน กิน ห้องน้ำ ออกกำลังกาย พื้นที่ส่วนตัวเท่ากับสบายใจ เช่น พื้นที่พักผ่อน งานอดิเรก สวดมนต์ เก็บของ หิ้งพระ ห้องสมุด และพื้นที่ทางสังคมเท่ากับสานสายใยสังคม เช่น พื้นที่รับแขก” รศ.ดร.ไตรรัตน์ กล่าว