อีก 4 ปี ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ พบแรงงานไทย 63% ขาดหลักประกันรายได้ยามเกษียณ เปิดกับดักมนุษย์เงินเดือนเสี่ยงเงินไม่พอใช้ยามชรา ด้าน 16 องค์กรของรัฐตาม พ.ร.บ. เฉพาะจับมือทำข้อเสนอรองรับสังคมสูงวัย
วันนี้ (15 มี.ค.2560) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ โดยในปีนี้ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตาม พ.ร.บ.เฉพาะ ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรที่ 16 และ การประชุมวิชาการที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธาน ทอพ. กล่าวว่า องค์กรของรัฐที่จัดตั้งตาม พรบ.เฉพาะ เป็นกลไกบริหารจัดการสาธารณะใหม่ (New Public Management) ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมกลไกรัฐเดิม เช่น ระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นกลไกตอบสนองของช่องว่างในกิจการสาธารณะที่ระบบเดิมที่มีข้อจำกัดซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มกลไกใหม่นี้ราวปี พ.ศ.2535 การรวมประชาคมขององค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ หรือ ทอพ. จึงเป็นจุดประสานกลางเพื่อทำความเข้าใจหน้าที่ บทบาทการทำงานต่อผู้เกี่ยวข้อง และยังเป็นการประสานกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการใหม่ และร่วมสร้างประโยชน์ร่วมกันต่อประเทศด้วย
การประชุมวิชาการองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ถือเป็นเวทีจุดประกายให้เกิดการ ‘สานพลัง’ เครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของทั้ง 16 องค์กร นำไปสู่การพัฒนาประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และกองทุนสนับสนุน เพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยในปีนี้มีภาคีใหม่ในลำดับที่ 16 ได้แก่ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมิติการทำงานที่ 5 คือด้านสื่อ เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้แก่คนในสังคมโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสื่อที่ปลอดภัย
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะนี้มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เป็นสังคมสูงวัยแล้ว อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 18% อันดับ 2 คือ ไทย มีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 16% หรือจำนวน 10.3 ล้านคน และอันดับ 3 เวียดนามอยู่ที่ 10% ซึ่งคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 20% และส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงจะหนักขึ้นเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ต่อวัยแรงงาน 3.2 คน ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น
“ปัจจุบันยังพบช่องว่างในการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือ แรงงานไทย 63% ที่ไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ และยังพบกับดักมนุษย์เงินเดือน โดยรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนสูงกว่าเงินสนับสนุนของรัฐขั้นพื้นฐานจากประกันสังคมและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่อเกษียณ อยู่ที่ 8,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหากไม่มีการออมสมทบ รวมถึงระบบรองรับข้อมูลด้านสุขภาพและด้านสังคม จึงเกิดความร่วมมือในหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะทั้ง 16 หน่วยงานในการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย ทั้งการจัดระบบและบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเครือข่าย การพัฒนามาตรฐาน และการสื่อสารสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” ประธาน ทอพ. กล่าว
รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการความรู้และประชุมวิชาการ ทอพ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 10.3 ล้านคน คิด 16% และคาดว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2564 ในสัดส่วนถึง 20% ประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย อาทิ ในด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 95% มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน และมีโอกาสเกิดโรคประจำตัวสูงขึ้นในบั้นปลาย ส่วนด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีเพียง 15 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ จากประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน รวมถึงผลกระทบด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียวหรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความสำคัญต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีนโยบายและกฎหมายรองรับในหลายมิติ เช่น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งเป็นแผนแม่บทด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องผู้สูงวัยอย่างมาก เป็นกรอบการดำเนินนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ
นอกจากนั้น ตามหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแลรักษาล่วงหน้า (Advance Care Plan) และมีความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุแบบประคับประคอง ซึ่ง สช. อยู่ระหว่างการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการตายดีและการดูแลแบบประคับประคองให้กับเครือข่ายต่างๆ โดยในการประชุมวิชาการในวันนี้ ที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) 16 องค์กร จะมีการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขในสังคมผู้สูงวัยอีกด้วย
ทั้งนี้ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ ทั้ง 16 องค์กรที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143