โรคตับแข็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญ ข้อมูลล่าสุดปี 2558 มีการประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งประมาณ 14,000 รายต่อปี ซึ่งผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากโรคและภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งนี้วิธีการรักษาโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายที่มีประสิทธิภาพคือ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ แต่วิธีดังกล่าวเป็นการรักษาแบบเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และมีข้อจำกัดเรื่องการขาดแคลนอวัยวะจากผู้บริจาค และการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ใหญ่ยังไม่ได้รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
งานวิจัยได้ศึกษาข้อมูลและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย ซึ่งผลวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย จำนวน 190 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ร้อยละ 72 (137 ราย) และไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ร้อยละ 28 (53 ราย) และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 51.5 รองลงมาคือ สิทธิบัตรทอง ร้อยละ 31.6 และสิทธิประกันสังคม ร้อยละ 11.8 ตามลำดับ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 41.5 รองลงมาคือ สิทธิบัตรทอง ร้อยละ 35.8 และสิทธิประกันสังคม ร้อยละ 20.8 ด้านรายได้ต่อครัวเรือนของผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 50,001-100,000 บาท รองลงมา 20,001-30,000 บาท และ 10,001-20,000 บาท และรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 10,001-20,000 บาท รองลงมา 20,001-30,000 บาท และ 50,001-100,000 บาทตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมีผลต่อการเข้าถึงการรักษาโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายด้วยการปลูกถ่ายตับ เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ด้านคุณภาพชีวิตพบว่า ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ได้รับการปลูกถ่ายตับมีคุณภาพชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ นอกจากนี้การคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ สามารถประมาณการผลกระทบด้านภาระงบประมาณสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปีที่ 1 ที่เริ่มการให้สิทธิประโยชน์ไปจนถึงปีที่ 20 โดยในปีแรกจะมีภาระด้านงบประมาณ 35.0 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 71.7, 100.6 และ 147 ล้านบาท ในปีที่ 5, 10 และ 20 ตามลำดับ นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุน โดยเฉพาะค่ายากดภูมิคุ้มกันหรือยาต้านไวรัสที่มีการใช้ยาที่เป็น Generic Name มากขึ้น ควรสนับสนุนให้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เป็น Longitudinal หรือ Cohort Data ในสถานพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และเก็บข้อมูลที่เป็นตัวแทนของผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน