ผู้สูงอายุมักต้องเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า โดยเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเสื่อมถอยของสมอง ระบบประสาท รวมไปถึงระบบความทรงจำและการนึกคิดต่างๆ จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2547 พบว่า โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลักของจำนวนปีที่สูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (Years of life lost due to disability-YLDs) ในเพศหญิง ในขณะที่เพศชายคือการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นโรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุอันดับที่ 4 รองจากโรคหลอดเลือดสมอง เอชไอวี/เอดส์ และโรคเบาหวานของความสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted Life Year-DALY) และจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า ในคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมอยู่ 12.4% และพบภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 800,000 คน ซึ่งนอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว สภาพแวดล้อมภายในอาคารนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการบำบัดและฟื้นฟูของผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า
งานวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้อาคาร อุปสรรคและข้อจำกัดทางกายภาพของที่พักอาศัยที่ส่งผลต่อการบำบัดและฟื้นฟู รวมถึงพัฒนารูปแบบของอาคารที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและโรคซึมเศร้า ซึ่งพบว่า ภายหลังการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของห้องตรวจในโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและโรคซึมเศร้ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในอาการของโรคดังกล่าว แต่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อมเกิดการค้นหาเส้นทางในภาพรวมที่ดีขึ้น รู้สึกพึงพอใจ มีสุขภาวะที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งสนใจต่อห้องตรวจมากขึ้น และทำให้ผู้สูงอายุโรคซึมเศร้ามีความเครียดและความวิตกกังวลลดลง รู้สึกพึงพอใจ มีสุขภาวะที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งสนใจต่อห้องตรวจมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่า หลังจากมีการปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมลดลง สามารถค้นหาเส้นทางได้ดีขึ้น ส่วนผู้สูงอายุโรคซึมเศร้ามีอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลลดลง และโดยรวมของผู้ป่วยทั้งสองโรคจะมีสุภาวะที่ดีขึ้นและรู้สึกสนใจในบ้านหลังที่ปรับปรุงมากขึ้น ทั้งนี้จากผลวิจัยได้จัดทำเป็นคู่มือแนวทางการออกแบบอาคารที่พักอาศัย ทั้งโรงพยาบาลและบ้านพักอาศัยแบบเดี่ยว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมภายใน เช่น การใช้แสงสว่าง การเพิ่มความแตกต่างของสี การใช้สีของพื้นผิวของพื้นที่ การติดป้ายหรือสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือบอกตำแหน่งต่างๆ ในพื้นที่ การมองเห็นธรรมชาติภายนอกหน้าต่าง ฯลฯ ที่สามารถนำไปเป็นแนวทางในการออกแบบที่เหมาะสมกับการฟื้นฟูผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า