หลังจากมีกระแสคลายล็อคกัญชา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย ได้วางแนวทางเพื่อกำกับและวางระบบบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ปลอดภัยและได้ประโยชน์จากการรักษา โดยการนำสารสกัดกัญชามาใช้ทางการแพทย์ในประเทศไทยค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากส่วนหนึ่งแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านยังขาดการยอมรับ และขาดการประสานเชื่อมโยงกับระบบแพทย์แผนปัจจุบัน
สวรส.จึงได้ศึกษาสถานการณ์ด้านอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย และประเมินผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบน้ำมันสกัด โดยได้มาจากแหล่งนอกระบบ และนำมารักษาโรคหรืออาการหลายชนิดที่นอกเหนือคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน โดยมีการประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งหมดอยู่ที่ 11.83 ต่อประชากรหนึ่งพันคน และจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การใช้กัญชาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพียงโรคเดียวคือ การรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากต้นทุนของน้ำมันสกัดกัญชา โดยเฉพาะ THC:CBD ที่ใช้ในการรักษายังมีราคาสูง ประเทศไทยจึงต้องการระบบการสร้างความรู้และการประเมินผลกระทบจากนโยบายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ทั้งนี้งานวิจัยได้ระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จัดทำสื่อเผยแพร่และข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสมเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย
ทั้งนี้องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย และทางเลือกนโยบาย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลมาตรการและระบบในการควบคุม ผลิต และจัดบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งช่วยป้องกันและลดผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศ ทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสมมากขึ้น ตลอดจนเป็นต้นแบบของระบบและกระบวนการติดตาม กำกับดูแลผลกระทบจากการออกนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้กับบุคลากรสุขภาพ ผู้ป่วย และสังคม