ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาเขตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากแต่การดำเนินการยังไม่คล่องตัวในทางปฏิบัติหลายเรื่อง ทำให้การดำเนินงานตามข้อเสนอการบริหารจัดการเขตสุขภาพไม่เป็นไปตามที่คาดหวังอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่การพัฒนาสาธารณสุขในลักษณะของเขตสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดังนั้นจึงได้มีการคัดเลือกพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 เป็นเขตสุขภาพนำร่องในการดำเนินการออกแบบระบบและกลไกในการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้งานวิจัยได้ดำเนินการออกแบบระบบและกลไกในการขับเคลื่อนเขตสุขภาพ และทดลองดำเนินการในพื้นที่นำร่อง เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอรูปแบบการพัฒนาเขตสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนงานวิชาการจากงานวิจัย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีการนำนวัตกรรมการบริหารจัดการมาสนับสนุน และขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมมีกำกับติดตามประเมินผลควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลวิจัยพบว่า การจะสนับสนุนการทำงานของเขตสุขภาพ ให้เกิดความคล่องตัว และบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานของเขตสุขภาพ ควรมีการออกแบบมาตรการเพื่อการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนการทำงานของเขตสุขภาพใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเขตสุขภาพและสำนักงานเขตสุขภาพ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 3) การมอบอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตสุขภาพ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขและสร้างความยั่งยืนทางการเงิน การคลัง ของหน่วยบริการ ซึ่งในการออกแบบมาตรการเพื่อการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนการทำงานของเขตสุขภาพ โดยใช้กลไกการทำงานของ Regulatory Sandbox ในการกำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะในแต่ละกรณี หรือมีการผ่อนปรนหรือยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบในบางกรณี เพื่อสนับสนุนการทำงานของเขตสุขภาพ ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด และมีการประเมินผลจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานดังกล่าว สามารถกำหนดเป็น Regulatory Sandbox ใน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นการจัดทำ Regulatory Sandbox ภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดโครงสร้างการทำงาน โครงสร้างบุคลากรของเขตสุขภาพและสำนักงานเขตสุขภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สำนักงานเขตสุขภาพ ซึ่งสามารถจัดทำได้โดยการกำหนดกฎเกณฑ์หรือการแก้ไขกฎหมายภายในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่กระทบต่อการบริหารประเทศ และระยะที่ 2 เป็นการจัดทำ Regulatory Sandbox ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเขตสุขภาพ และการสร้างความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เขตสุขภาพสามารถแก้ไขอุปสรรคในการบริหารจัดการที่เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเขตสุขภาพ มีมาตรการการบริหารจัดการ เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการภายในเขตสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามเป้าหมาย ทั้งนี้ผลวิจัยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขสามารถนำข้อเสนอดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการเขตสุขภาพ และกำหนดมาตรการการดำเนินการของเขตสุขภาพทั้งหมด