จากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และมีความไม่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาจากความรู้ที่มีอยู่จำกัดในปัจจุบัน แต่กรอบแนวคิดที่ประเทศไทยใช้กำหนดทิศทางของการจัดการปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้บริบทของระบบสุขภาพในปัจจุบัน มีแนวโน้มของการคิดแยกส่วนโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งทำให้การจัดการปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าว อาจสร้างผลกระทบจากนโยบายและลดทอนโอกาสความสำเร็จของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ แต่นักระบาดวิทยาและนักวิจัยระบบสุขภาพสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดและเครื่องมือของกระบวนการคิดเชิงระบบ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบาย โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบทั้งหมดที่เชื่อมโยงกัน
งานวิจัยเป็นการศึกษาเชิงระบบที่เชื่อมโยงปัญหาหลากหลายมิติ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 โดยใช้แบบจำลองทางระบาดวิทยาช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นภาพรวมปัญหา และมองความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในระบบ โดยเชื่อมกับประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ สังคม รวมทั้งช่วยสื่อสารให้สาธารณะได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตลอดจนประยุกต์ใช้แนวคิดและเครื่องมือของกระบวนการคิดเชิงระบบ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาและลดข้อจำกัดของกระบวนการคิดแบบแยกส่วน โดยพิจารณาปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ในระบบสังคมที่ซับซ้อนและปรับตัวได้ ซึ่งงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นผลมาจากการปรับตัวที่ซับซ้อนของระบบสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ระยะแรกของการระบาดในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยและเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็นผลมาจากกระบวนการควบคุมโรคที่มุ่งเน้นการกักโรคและแยกโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เสริมด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนตัวและการเพิ่มระยะห่างทางกายภาพ แต่เมื่อเกิดการระบาดแบบกลุ่มในสนามกีฬาและสถานบันเทิง ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจใช้นโยบายการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้น เช่น ปิดสถานประกอบการ ให้ประชาชนอยู่บ้านและจำกัดการเดินทาง แต่กลับมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งที่อยู่ในเมืองใหญ่ไม่มีงานทำและจำเป็นต้องปรับตัว เดินทางกลับบ้านเกิด ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วประเทศ ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบทั้งหมดที่เชื่อมโยงกันจากการพัฒนาแผนภาพเชิงสาเหตุนำไปสู่การสังเคราะห์โครงสร้างของแบบจำลองสถานการณ์ระบบพลวัต โดยพัฒนาต่อยอดจากแบบจำลองสถานการณ์ทางระบาดวิทยา และเพิ่มเติมกลุ่มนโยบายเพื่อบูรณาการระบบการแก้ไข ทั้งมาตรการควบคุมโรค มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการสุขภาพ และมาตรการเยียวยาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม การทดสอบผลลัพธ์ของทางเลือกเชิงนโยบายด้วยแบบจำลองสถานการณ์ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจเลือกนโยบายที่มีโอกาสสร้างผลลัพธ์ในการควบคุมโรคมากที่สุด หรือมีผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด รวมทั้งสามารถใช้แบบจำลองสถานการณ์นี้เป็นเครื่องมือในการสังเคราะห์บทเรียนเพื่อวางแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว เช่น ทดสอบนโยบายเพื่อลดผลกระทบของการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาจส่งผลต่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพ หรือทดสอบนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของระบบสุขภาพ เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งผลวิจัยดังกล่าว ได้นำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป