โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 36 ล้านคนต่อปี ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะสมองเสื่อม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวมีมากขึ้น ทั้งการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ภาวะความเครียด ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การส่งเสริมการรับประทานอาหารสุขภาพ การออกกำลังหรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นำไปสู่การป้องกันโรค
งานวิจัยได้ศึกษาผลของการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเก็บข้อมูลอาสาสมัครทั้งสิ้น 3,505 ราย แบ่งเป็นอาสาสมัครกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอาสาสมัครกลุ่มทดลองจะได้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในทุกระดับที่วางแผนไว้ รวมถึงการให้คำปรึกษารายบุคคลตามระดับความเสี่ยงของพฤติกรรมสุขภาพ กิจกรรมการเยี่ยมบ้าน กิจกรรมกลุ่มและการจัดการความรู้ และกิจกรรมระดับประชาคม โดยที่อาสาสมัครกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามเวชปฏิบัติปกติ แล้วหลังจากนั้นทำการศึกษาเปรียบเทียบ ผลของกิจกรรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนต่อพฤติกรรมสุขภาพ โดยพิจารณาตัวแปรทางสรีรวิทยาและชีวเคมี คะแนนสมรรถภาพสมอง และอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยวิเคราะห์หาค่า Relative risk และ relative risk reduction และศึกษาต้นทุน-ประสิทธิผลของกิจกรรมฯ โดยวิเคราะห์ค่า Incremental Cost-Effectiveness Ratio หรือ ICER ซึ่งผลวิจัยพบว่า การดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชน 4 เรื่อง 1) กิจกรรมทางกาย 2) บริโภคอาหาร 3) สูบบุหรี่ 4) ดื่มสุรา ผ่านกิจกรรม 4 ระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับครัวเรือน ระดับกลุ่ม และระดับประชาคม โดยผ่านการดำเนินงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลและแกนนำสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ ทักษะ และทรัพยากร ร่วมกับการติดตามผลการดำเนินการเป็นระยะจากทีมภายนอก ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดลดลง และสามารถช่วยประคับประคองสมรรถภาพสมองในกลุ่มอาสาสมัครโดยรวมได้ นอกจากนี้ยังพบว่า กิจกรรมการป้องกันโรคในชุมชน สามารถลดการเกิดภาวะของสมองบกพร่องเล็กน้อยในชุมชนได้ถึงประมาณครึ่งหนึ่ง และช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ รวมถึงกิจกรรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง (กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน และมีระดับน้ำตาลเริ่มต้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์ภาวะก่อนเบาหวาน) ลงได้ 37% หรือความเสี่ยงลดลง 1 ใน 3 และสามารถลดการมีภาวะไตเสื่อม (มากกว่า 25% ของค่าเดิม) ในอาสาสมัครเพศหญิงลงได้ถึง 59% หรือเกือบ 1 ใน 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคในชุมชนดังกล่าว มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อพิจารณาจากค่าต้นทุน-ประสิทธิผล รวมถึงพบว่า พฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นในปีที่ 2 ยังคงเดิมหรือดีขึ้นอีกในปีที่ 3 ของการดำเนินงานวิจัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมสุขภาพที่มีความยั่งยืน ดังนั้นรูปแบบกิจกรรมการป้องกันโรคดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหลายชุมชนทั่วประเทศ และควรมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มเติมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งการทำกิจกรรมและการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป