“15 ปีที่แล้ว สสส.เปรียบเสมือนต้นไม้พันธุ์ใหม่ในประเทศไทย” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย้อนภาพการทำงานที่ผ่านมาของ สสส.จากวันแรกของการขับเคลื่อน
โดย สสส.เป็นหนึ่งใน 16 องค์กรสมาชิกของ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) หนึ่งในฟันเฟืองการทำงาน ผ่านพันธกิจที่แตกต่างกันใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านกองทุนสนับสนุน ซึ่งแต่ละองค์กรได้ทำหน้าที่เติมช่องว่างให้กับสังคมไทย และสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ
สำหรับ สสส.ถือเป็นตัวขององค์กรรัฐที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยได้นำต้นแบบการทำงานด้านสุขภาพจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้เป็นแม่แบบ และเป็นที่มาของ สสส.ในวันนี้
“ปัจจุบันร้อยละ 90 งบประมาณรัฐ คือใช้รักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีหน่วยงาน ใดมาส่งเสริมงานด้านนี้อย่างจริงจัง เราจึงเริ่มจากการใช้นวัตกรรมด้าน การเงินการคลังเพื่อสังคม ในการนำเงินร้อยละ 2 จากการจัดเก็บภาษีเหล้าบุหรี่มาเข้ากองทุน เป็นการเติมเงินเข้ามาในเรื่องภาคการทำงานสร้างสุขภาพ”
ดร.สุปรีดา เอ่ยว่า สสส.ได้วางบทบาทการบริหารเงินงบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด ในด้านการสร้างสุขภาพยั่งยืนของพี่น้องชาวไทยทุกคน
“ในอดีตโรคภัยไข้เจ็บคนไทยยังเป็นโรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบันหลายสิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 4 การเสียชีวิตของคนไทยเกิดจากโรคพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขภาวะ ซึ่งหากพึ่งพากำลังของหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาด้านนี้ แม้ที่มา สสส.เป็นการเรียนรู้จากหลายประเทศมาก่อน แต่ไทยถือเป็นประเทศที่มีการนำมาปรับใช้และปฏิบัติได้จริงจนสร้างผลลัพธ์ความสำเร็จหลายด้านผ่านการสร้างกลไกใหม่ โดยนำวิธีการทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมและ วิถีชีวิตคนไทยด้านสุขภาพใหม่ ที่เรียกว่าง่ายๆ ว่า “สร้างนำซ่อม” ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง (health education) สร้างสิ่งแวดล้อม และการใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม“
ผู้จัดการ สสส.เฉลยเคล็ดลับสำคัญต่อว่าคือการ “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง” และสร้างนิยามการทำงาน ด้านสุขภาพใหม่
“ในด้านกระบวนการทำงาน สสส.ใช้ทฤษฎีที่ถูกที่สุดในการทำงานด้านนี้ นั่นคือเราสร้างตัวอย่างจริงที่เรียกว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือไตรพลังของการทำงาน ได้แก่ ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม โดยผลักดันควบคู่กับการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น โดย สสส.มีภาคีเครือข่ายเกิดขึ้นมากมายจากการทำงานร่วมกัน ด้วยบทบาทในการเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กลุ่มคนเหล่านี้ จนสามารถผลักดันนโยบายระดับชาติได้หลายเรื่อง และเกิดมาตการ กลไกต่างๆ มากมายด้านสุขภาพตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ”
จากหัวใจสำคัญการทำงาน คือ การให้ความรู้ จากการทำงานเชิงรุก โดยใช้ฐานความรู้ในการเป็นตัวตั้ง นำมาสู่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งในฐานะประธานที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) ดร.สุปรีดายังกล่าวว่า การรวมตัวกัน ของ ทอพ. มีเจตนารมณ์เดียวกัน เพื่อ ขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประสานพลังสร้างการจัดการองค์กรภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
“วันนี้ถ้าจะสรุปว่านวัตกรรมที่ได้จากการทำงานของทั้ง 16 องค์กร ทอพ. มี 4 ประการคือ นวัตกรรมด้านการเงินการคลัง เพื่อสังคม นวัตกรรมด้านสุขภาพในนิยามใหม่ นวัตกรรมการเชื่อมประสานการทำงาน โดยมีองค์ความรู้ และนวัตกรรมเรื่องระบบงาน แต่วันนี้ เรายังมองเห็นว่า หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้องค์กร มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย”
ดังนั้น ทอพ. ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาองค์กร ทอพ. ไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและ มีธรรมาภิบาล และได้รับความไว้วางใจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ผ่าน 3 มาตรการคือ 1.ประสานพลังและบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเพิ่มบทบาทการให้ข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายแก่รัฐบาล การดำเนินงานตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2.เร่งพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประสานทรัพยากรร่วมกัน สร้างนวัตกรรมแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา และ 3.จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับองค์กรภาครัฐ เพื่อพัฒนา 16 องค์กรเฉพาะให้สามารถดำเนินการตามพันธกิจของแต่ละองค์กรได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญช่วยการ ขับเคลื่อนพันธกิจของรัฐบาลได้ให้สำเร็จ โดยทบทวนข้อกำหนด ข้อบังคับที่เป็น อุปสรรคในการทำงาน โดยมุ่งยึดแนวทางการบริหารจัดการองค์กร และกลไกการกำกับตามที่ได้ออกแบบและระบุไว้ในพระราชบัญญัติเฉพาะของแต่ละองค์กรเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กร ทอพ. สามารถเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชน ได้อย่างแท้จริง