ต่อเนื่องมาถึงผลงานสำคัญของ สอวช. ในมิติที่ 3 การออกแบบกลไกและแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อมุ่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานของประเทศให้สูงขึ้น ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยผลักดันให้ประเทศมีกลไกการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้ มีการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยของอุดมศึกษาที่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน มีกลไกเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาคนและทำวิจัยร่วมกับเอกชนในเชิงลึกมากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนที่มีความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับการยกระดับเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการวิจัยนวัตกรรมสินค้าและกระบวนการ (Product Innovation and Process Innovation)
4 ผลงานสำคัญในมิติที่ 3 ประกอบด้วย
1. สมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563 – 2567)
สอวช. ได้สำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ (Critical functional competency) ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) และเผยแพร่ไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาและประชาคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผ่านทางเว็บไซต์ สอวช. โดยมุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการสำรวจครอบคลุมสถานประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรม S-curve ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมดิจิทัล 4) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 5) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 6) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 7) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 8) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 9) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 10) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 11) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ 12) อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
ผลการสำรวจได้รวบรวมข้อมูลสมรรถนะงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการกำหนดหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งที่เป็นหลักสูตรระดับปริญญา และการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น (non-degree) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/s-curve-2020
2. University-Industry Link (UIL): พัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรม
สอวช. เสนอกลไกและแนวทางเพื่อสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย (Consortium) ที่สามารถผลิตกำลังคนร่วมอุตสาหกรรมอย่างมีระบบและประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษามหาวิทยาลัย ดังนี้
1) แพลตฟอร์มการจัดการศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม (Work-Integrated Learning & Triple Helix Platform) เป็นความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงที่มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มนี้เป็นการขยายผลต่อยอดจากผลการดำเนินงานด้านกำลังคนในอดีตของ สอวช. ร่วมกับหน่วยงานภาคี อาทิ โครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (WiL) โครงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม (RDI) และ โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Sci-FI)
ในปีงบประมาณ 2563 สอวช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มการศึกษาครบวงจร เพื่อการพัฒนานักศึกษาปริญญาโทและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการและลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา 18 แห่ง ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ระบบเครื่องเย็น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และ เคมีภัณฑ์ โดยเปิดรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ และมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการและพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย ที่ร่วมผลิตกำลังคนและงานวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรม 9 แห่ง
2) ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) โดย สอวช. ขยายผลการดำเนินโครงการ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พัฒนาและจัดทำข้อเสนอแผนงานส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ ไปปฏิบัติงานในภาคการผลิตบริการ สังคมและชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนในวงกว้าง หรือการขับเคลื่อนในลักษณะเครือข่าย และได้รับการจัดสรรกรอบงบประมาณสนับสนุนผ่าน บพค. ในปี 2564 จากการดำเนินงานดังกล่าว คาดว่าจะเกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของภาครัฐมีการปรับปรุงกฎระเบียบ แรงจูงใจ กระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงานภายในองค์กร ให้เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรขององค์กรไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. มาตรการสนับสนุนการยกระดับทักษะบุคลากรผ่านกลไก Upskill/Reskill/New Skill
สอวช. ร่วมกับ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ และ สป.อว. จัดทำข้อเสนอมาตรการสนับสนุนการยกระดับทักษะบุคลากรผ่านกลไก Upskill/Reskill/New Skill Framework เพื่ออบรมทักษะอาชีพให้ผู้ว่างงาน/แรงงานคืนถิ่นและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบให้มีความพร้อมสร้างงานสร้างรายได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมทักษะการทำงานสมัยใหม่ให้กับนักศึกษาที่กำลังสำเร็จการศึกษา เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่ตำแหน่งงานใหม่ที่เป็นความต้องการ และเป็นกลไกสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องให้กับคนไทย โดยมีการลงนาม MOU สนับสนุนการดำเนินการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ร่วมกับมหาวิทยาลัย 18 แห่งและมีหลักสูตรนำร่องการดำเนินการกว่า 30 หลักสูตร
4. มาตรการจูงใจส่งเสริมการจ้างงานและยกระดับทักษะ STEM workforce
สอวช. ร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สป.อว. และ สวทช. จัดทำข้อเสนอมาตรการและกลไกสนับสนุนการยกระดับและการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง รวมถึงออกแบบกลไกการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี การกำหนดกลุ่ม Future Skills Set และตำแหน่งงานทักษะสูง เพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการรองรับการพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบันได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 711) พ.ศ. 2563 และประกาศพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 712) พ.ศ. 2563 ต่อมาได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 392 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 393 มอบหมายให้ สอวช. ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่ง สอวช. ได้ออกแบบและจัดทำกลไกการดำเนินงานประกาศหลักเกณฑ์ และระบบสารสนเทศเพื่อรองรับมาตรการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับหน่วยงานและภาคเอกชน
รอติดตามสรุปผลงานของ สอวช. ในปี 2563 ในมิติต่อไป ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สอวช.
และสามารถอ่านรายละเอียดผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 1 : วางนโยบายทิศทางของประเทศ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8511/
มิติที่ 2 : ขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8559/
ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดรายงานประจำปี 2563 ของ สอวช. สามารถติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2021/04/AnnualReport-2563.pdf
“อววน. ส่งมอบอนาคตประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”