ในชีวิตของคนเรามักจะมีจุดเปลี่ยนผันที่ทำให้เราต้องเกิดการปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียน การเริ่มทำงาน และการมีครอบครัว ซึ่งอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือการที่เราเริ่มมีลูก และยิ่งในทุกวันนี้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในวัยแรงงานต่างต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานไปด้วย อย่างไรก็ตามแม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเด็ก แต่เราจะเห็นได้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการมีลูกในด้านการงานมักจะเป็นผู้หญิง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าผลกระทบจากการมีลูกของครอบครัวในสมัยนี้โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนั้นมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเธอบ้าง และวิถีการทำงานของพวกเธอเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ซึ่งข้อมูลที่เรานำมาพูดคุยวันนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร : การศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์” ของ ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา ที่จะทำให้เราได้เข้าใจรูปแบบการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานของครอบครัวรุ่นใหม่ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งการเงิน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และอารมณ์ความรู้สึก
ผลกระทบจากการมีลูกของผู้หญิง
เวลาผู้หญิงมีลูกนั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงานของพวกเธอเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีผู้หญิงจำนวนค่อนข้างมากเลือกที่จะลาออกจากงานอย่างสิ้นเชิง เพื่อที่จะมาเป็นแม่ผูกขาดและเลี้ยงลูกเต็มเวลา หรือถ้าไม่ได้ลาออกจากงาน บางคนก็เลือกที่จะเปลี่ยนงาน เช่น เปลี่ยนที่ทำงานให้ใกล้บ้านมากขึ้นจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล หรือบางคนก็เปลี่ยนสายงานเลย เป็นสายงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือมีความแน่นอนมากขึ้นที่จะสามารถจัดการชีวิตการทำงานและการเลี้ยงลูกได้ หรือบางคนที่ไม่ได้เปลี่ยนงานเลยแต่พอมีลูกยังไงก็ส่งผลต่อการทำงาน เช่น เวลาในการทำงานอาจลดลงกลับบ้านเร็วขึ้น มีวันลาไปดูแลลูกมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นผลกระทบที่เกิดจากการมีลูกต่อผู้หญิง หลายคนอาจมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแค่ปีสองปีหรือไม่ ในขณะที่ลูกยังเล็กๆ อยู่ แต่จริงๆ แล้วผลกระทบมันไม่ใช่แค่นั้น ผู้หญิงที่ออกจากงานมาสองปีสามปี เมื่อลูกโตเข้าโรงเรียนจะกลับมาทำงานอีกทีในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเปลี่ยนสายงานไปแล้วจะกลับมาสายงานเดิมก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นปีสองปีที่เปลี่ยนแปลงไปมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปีสองปีเท่านั้น แต่มันอาจกระทบตลอดชีวิตการทำงานของผู้หญิงคนนั้นเลย
ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์
งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยพบว่าข้อมูลที่น่าสนใจ ปรากฎอยู่ในออนไลน์ค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เราเลือกใช้คือ พันทิป (pantip) และ เฟสบุ๊ค(facebook) ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างมาก มีผู้คนแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวค่อนข้างเยอะ และเป็นแหล่งข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ โดยข้อดีของการใช้ข้อมูลออนไลน์นั้นประกอบไปด้วย
- การได้ข้อมูลจำนวนมากและเป็นข้อมูลที่ได้จากสังคมที่มีความหลากหลายมากพอสมควร
- การได้ข้อมูลที่ค่อนข้างตรงไปตรงมามากกว่ารูปแบบการเก็บข้อมูลอื่น
อย่างไรก็ตามลักษณะการโพสใน 2 ช่องทางนี้ก็มีความแตกต่างกัน คือ
- ใน พันทิป จะเป็นลักษณะที่มีคนมาตั้งกระทู้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการโพสถึงปัญหาที่ตนเผชิญ เช่น “เป็นแม่เต็มเวลาเครียดไม่มีรายได้” คนที่โพสก็จะเล่าถึงปัญหาของตนให้ฟัง และคนที่มาตอบก็จะเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์
- แต่ใน เฟสบุ๊ค หลักๆ จะมาจากการที่เพจต่างๆ โพสเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นแม่เต็มเวลา ผู้คนก็จะแชร์ต่อว่าพวกเค้าเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกับโพสนั้นอย่างไรบ้าง โดยลักษณะการเขียนจะไม่ยาวและข้อมูลไม่ลึกเท่าพันทิป อาจจะด้วยเหตุผลที่ในเฟสบุ๊คผู้คนมักจะใช้แอคเคาท์จริง เลยไม่มีการปกปิดตัวตนเหมือนในพันทิป
แม่ยุคใหม่หันมาขายของออนไลน์
เราสามารถแบ่งแม่ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก หนึ่งคือ แม่ที่ออกจากงานเลยเพื่อมาเป็นแม่เต็มเวลากับอีกกลุ่มคือ แม่ที่ยังคงทำงานอยู่ โดยหลักๆ จะเห็นได้ชัดเลยว่า กลุ่มแม่ที่ออกมาเป็น “แม่เต็มเวลา” เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด คือเปราะบางทั้งทางด้านการเงินและทางด้านอารมณ์เนื่องจากทั้ง 2 อย่างนี้เป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน คือมันมีความไม่มั่นคงค่อนข้างสูง และสาเหตุที่พวกเค้าออกมาจากงานเพราะพวกเค้าอยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเองเพราะคิดว่าการได้เลี้ยงลูกเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อถามว่าพวกเค้าอยากทำงานหรือไม่ ทุกคนยังอยากทำงาน ไม่มีใครอยากเป็นแม่บ้านเฉยๆ ไม่มีรายได้ แต่แนวทางโครงสร้างสังคมมันยังไม่เอื้อที่จะให้พวกเธอเลี้ยงลูกได้เองพร้อมกับทำงานให้พอมีเงินเดือนได้
นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ พบว่ามีคนที่ไม่ตั้งใจจะออกจากงาน แต่เนื่องจากที่ทำงานให้ลาได้ 3 เดือน เมื่อครบ 3 เดือน แต่พวกเค้าก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปทำงานและยังไม่มีใครสามารถที่จะมาดูแลได้ ปู่ย่าตายายไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูและไม่มีสถานที่ที่พวกเค้าจะฝากลูกได้สบายใจพอ พวกเค้าเลยตัดสินใจที่จะออกจากงาน และเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นแล้วพวกเค้าก็อยากจะกลับไปทำงาน แต่พวกเค้าไม่กล้าที่จะกลับไปเพราะไม่รู้ว่าจะกลับไปยังไงและยิ่งมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นแรงงานอยู่ตลอดทำให้ยากที่จะกลับไปสู้ พวกเธอเหล่านี้เลยหันไปขายของออนไลน์กัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบ (pattern) ของแม่ที่ออกมาจากงานประจำเลยก็ว่าได้ เมื่อถึงจุดนึงที่เริ่มมีเวลา ลูกเริ่มโตขึ้นแล้ว ก็จะหันมาขายของออนไลน์กัน ซึ่งในเฟสบุ๊คและพันทิปจะเห็นผู้คนมาปรึกษากันเยอะมากในเรื่องการขายของออนไลน์ แต่ต้องบอกตามตรงว่าน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ ในการขายของออนไลน์แล้วได้เงินมากพอที่จะช่วยค่าใช้จ่าย เรียกได้ว่าเป็นความเปราะบางทางด้านการงานค่อนข้างชัดเจนมาก โดยผู้หญิงที่ออกมาเป็นแม่เต็มเวลาแล้วกลับไปทำงานในระบบใหม่เรียกได้ว่าน้อยมาก (น้อยกว่า 10%) ซึ่งส่วนใหญ่จะหันมาขายของออนไลน์ โดยแม้ว่าจะเป็นช่องทางที่มีความเป็นอิสระภาพ มีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา แต่ก็ขาดความมั่นคงอยู่มาก
แนวทางการพัฒนา
ข้อมูลดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างสังคมนั้นยังไม่เอื้อให้ผู้หญิงมีทั้งการงานที่ประสบความสำเร็จพร้อมๆ กับการมีเวลาเลี้ยงลูกที่มากพอ ทำให้เกิดข้อเสนอจากงานวิจัยใน 3 ประเด็น คือ
- ประเด็นที่หนึ่ง เป็นเรื่องของการมีวันลาที่เพียงพอ อย่างที่ได้กล่าวไปในเรื่องการอนุญาตลา 3 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่เพียงพอสำหรับการดูแลเด็กแรกเกิด ดังนั้นควรขยายวันลาคลอดให้มากขึ้นอย่างเหมาะสม โดยอาจพิจารณาให้ทุกสถานการณ์อยู่ตัวกว่านี้ เพื่อที่ว่าผู้หญิงจะไม่ต้องเลือกออกจากงานไปเลย
- ประเด็นที่สอง การสร้างความยืดหยุ่น เนื่องจากงานปัจจุบันที่อยู่ในระบบไม่มีความยืดหยุ่นมากพอทั้งเรื่องของเวลาและสถานที่ ถ้างานบางอย่างสามารถทำงานได้จากที่บ้าน (work from home) ก็ควรที่จะสนับสนุน หรือ ในเรื่องของเวลาที่ไม่ใช่แค่เข้าเวลาไหนออกเวลาไหน แต่สามารถบริหารจัดการเวลาหยุดได้ โดยอาจไม่หยุดติดต่อกัน แต่สามารถเลือกวันลาหยุดตามโควต้าได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่น่าจะเหมาะกับประเทศไทย เพราะว่าระบบสนับสนุนในการเลี้ยงลูกของประเทศไทยค่อนข้างเป็น ระบบครอบครัว ในวันที่ปู่ย่าตายายสามารถเข้ามาเลี้ยงดูได้ วันนั้นเราอาจจะไปทำงานได้มั้ย เป็นการหาวิธีที่จะรักษาให้ผู้หญิงอยู่ในระบบการทำงานให้ได้นานที่สุด อย่าให้การมีลูกเป็นสาเหตุให้พวกเขาจะต้องออกจากการทำงาน
- ในประเด็นที่สาม ที่อยากให้มีการส่งเสริมคือ การลาหยุดของพ่อ ปัจจุบันสำหรับข้าราชการไทย ผู้ชายสามารถลาหยุดได้ 15 วัน เพื่อที่จะไปช่วยภรรยา แต่ตอนนี้สังคมส่วนใหญ่ก็มีคำถามอยู่ว่าทำไมจะต้องให้ผู้ชายหยุดด้วย การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้นใช่หรือไม่ ผู้ชายหยุดไปแล้วจะช่วยอะไรได้ ผู้ชายที่ลางานมักจะถูกตั้งคำถามว่าจริงหรอ 15 วันเลยหรอ เพราะหลายคนมองว่าผู้ชายไม่ได้มีส่วนในการเลี้ยงลูกขนาดนั้น ดังนั้นต้องช่วยปรับทัศนคติของสังคมให้เห็นว่าผู้ชายก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นเดียวกับผู้หญิง มิหนำซ้ำยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถบริหารชีวิตการทำงานได้มากขึ้นด้วย